การเซ็นสัญญาอันแสนคุ้มค่าของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

ในตอนที่ 5 ของซีรี่ส์ The Transfer Lists เราได้คัดเลือกเอา 13 การเซ็นสัญญาที่คุ้มค่ามากที่สุดของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดตลอดหลายปีที่ผ่านมามานำเสนอ…

1. เอ็ดวิน ฟาน เดอร์ ซาร์ (ฟูแล่ม – กรกฏาคม 2005, 2 ล้านปอนด์)
ที่จริงฟาน เดอร์ ซาร์น่าจะย้ายเข้ามาเฝ้าเสาให้กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดมาตั้งนานก่อนหน้าแล้ว ผู้รักษาประตูชาวดัตช์ตกเป็นเป้าหมายของทีมปีศาจแดงตั้งแต่ปี 1999 เมื่อชไมเคิลตัดสินใจย้ายทีมออกไปในช่วงซัมเมอร์ แต่กลายเป็นว่ากว่าจะได้ตัวเขาเข้ามาก็ต้องรอถึงปี 2005 แม้ว่าฟูแล่มจะไม่ค่อยเต็มใจที่จะปล่อยตัวมือกาววัย 34 ปีรายนี้ออกมาให้กับทีมปีศาจแดงก็ตาม หลังจากนั้นนอกจากเขาจะสร้างสถิติโลกในด้านคลีนชีทแล้ว เขาก็ยังกลายเป็นฮีโร่ที่มอสโกว์ในเกมที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดเอาชนะเชลซีในนัดชิงฯ แชมเปี้ยนส์ ลีกอีกด้วย

2. คริสเตียโน่ โรนัลโด้ (สปอร์ติ้ง ลิสบอน – สิงหาคม 2003, 12.24 ล้านปอนด์)
เรายอมรับว่าในตอนแรกมันอาจจะดูเป็นค่าตัวที่สูงเกินจริงสำหรับดาวรุ่งสักคน แต่เมื่อคุณลองพิจารณาว่ารอนนี่ได้ทำอะไรไว้ให้กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดบ้าง ทั้งยิงประตู 118 ลูก จากการลงเล่น 292 เกม, พาทีมคว้าแชมป์รายการใหญ่ 8 รายการ และคว้ารางวัลบัลลงดอร์ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเม็ดเงินที่จ่ายไปมันคุ้มค่ามหาศาล แถมสโมสรยังได้กำไรจากการขายเขาให้กับเรอัล มาดริดด้วยค่าตัว 57.76 ล้านปอนด์อีกด้วย เป็นการทำธุรกิจที่ไม่เลวเลยล่ะ

3. โอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์ (โมลด์ – กรกฎาคม 1996, 1.5 ล้านปอนด์)
ศูนย์หน้าโนเนมชาวนอร์เวย์ย้ายเข้ามา และปรับตัวเข้ากับเกมการเล่นในอังกฤษได้อย่างรวดเร็ว เขาสถาปนาตัวเองให้เป็นฮีโร่ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดด้วยการซัดประตูชัยที่คัมป์ นูในปี 1999 รวมแล้วเขาล่าตาข่ายให้กับสโมสรไปทั้งหมด 126 ลูก ก่อนที่อาการบาดเจ็บเรื้อรังจะบังคับให้เขาต้องแขวนสตั๊ด แต่สถานะความเป็นตำนานของเขาก็ไม่ได้สั่นคลอนลงแต่อย่างใด

4. รอนนี่ ยอห์นเซ่น (เบซิกตัส – กรกฎาคม 1996, 1.2 ล้านปอนด์)
ในตอนที่เซ็นเตอร์แบ็คชาวนอร์เวย์กำลังจะย้ายออกมาจากเบซิกตัส มีเพียงแค่ท็อตแน่มเท่านั้นที่มองเห็นถึงศักยภาพในตัวเขา อย่างไรก็ตาม เขาก็ย้ายมาเล่นให้กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดเพื่อทดแทนตำแหน่งที่ขาดหายไปของ สตีฟ บรู๊ซ และการที่เขาสามารถเล่นได้ทั้งกองหลังและมิดฟิลด์ก็ทำให้เขาเป็นที่ชื่นชอบของผู้จัดการทีม อาการบาดเจ็บทำให้เขาไปได้ไม่ไกลเท่าที่ควร แต่ก็ยังถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เมื่อเขาเป็นสมาชิกคนสำคัญในทีมชุดที่คว้าทริปเปิลแชมป์

5. เอริค คันโตน่า (ลีดส์ ยูไนเต็ด – พฤศจิกายน 1992, 1.2 ล้านปอนด์)
หลังจากข้อเสนอสำหรับ เดวิด เฮิร์สท ถูกบอกปัด ทีมปีศาจแดงก็ต้องมองหากองหน้ารายอื่นเข้ามาแทน มันดูเหมือนเป็นเรื่องยาก จนกระทั่งมาได้ตัวคันโตน่าจากทีมแชมป์เก่าอย่างลีดส์ ในตอนแรกมันก็ดูเหมือนมีความเสี่ยงอยู่เหมือนกันสำหรับนักเตะชาวฝรั่งเศสที่ยังไมได้พิสูจน์ตัวเองอะไรมากมาย แต่สุดท้ายเขาก็มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ทีมคว้าแชมป์ลีก เหตุการณ์เดียวที่ไม่น่าจดจำสำหรับเขาก็คือการถูกแบนยาวในช่วงท้ายฤดูกาล 1994/95 จากการไปกระโดดเตะแฟนบอลคริสตัล พาเลซ

6. ปีเตอร์ ชไมเคิล (บรอนด์บี้ – สิงหาคม 1991, 505,000 ปอนด์)
นี่เป็นดีลที่โค้ชผู้รักษาประตูอย่าง อลัน ฮ็อดจ์กินสัน บอกเอาไว้ว่าเป็น “การซื้อตัวแห่งศตวรรษ” เลยทีเดียว เมื่อเขาทราบถึงค่าตัวนายทวารชาวโคนมที่ทางบรอนด์บี้เสนอมา ฮ็อดจ์กินสันก็รีบไปบอกกับ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ทันทีว่าชายคนนี้แหละที่จะช่วยให้เขาคว้าแชมป์พรีเมียร์ ลีกได้ ซึ่งมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เมื่อยักษ์เดนส์ลงทำหน้าที่ด้วยฟอร์มสุดยอดเกือบทุกเกม เขาอำลาแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดไปอย่างยิ่งใหญ่ด้วยการสวมปลอกแขนกัปตันพาทีมคว้าแชมป์ถ้วยที่ 3 หลังเอาชนะบาเยิร์น มิวนิคในนัดชิงฯ แชมเปี้ยนส์ ลีก

7. อันเดร แคนเชลสกี้ส์ (ชัคตาร์ โดเนทส์ก – มีนาคม 1991, 650,000 ปอนด์)
ปีกรายนี้ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักสักเท่าไหร่ในตอนนั้น แม้ว่าจะติดทีมชาติโซเวียตแล้วก็ตาม การย้ายทีมของเขาจึงไม่ค่อยเป็นข่าวดังมากนัก แต่ว่าเขาก็กลายเป็นที่ชื่นชอบของแฟนๆ อย่างรวดเร็วด้วยสไตล์การเล่นที่เร้าใจ แฮตทริคในเกมแมนเชสเตอร์ ดาร์บี้ของเขาเมื่อปี 1994 ทำให้เขาเข้าไปนั่งในหัวใจของแฟนบอลทุกคน และเขาก็เป็นดาวซัลโวของทีมในฤดูกาลนั้นด้วยจากการเล่นตำแหน่งปีกขวา ก่อนที่เขาจะย้ายไปร่วมทีมเอฟเวอร์ตันด้วยค่าตัวเป็นสถิติสโมสร 5 ล้านปอนด์ในฤดูกาลถัดมา

8. เดนิส เออร์วิน (โอลด์แฮม แอธเลติก – มิถุนายน 1990, 625,000 ปอนด์)
ฟูลแบ็ครายนี้เล่นได้อย่างโดดเด่นในเกมรอบรองฯ เอฟเอ คัพ ทั้ง 2 นัดที่เจอกับทีมปีศาจแดงเมื่อปี 1990 และโอลด์แฮมก็ตอบรับข้อเสนอของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดสำหรับการซื้อตัวนักเตะชาวไอริชรายนี้ เขาลงเล่นด้วยความสม่ำเสมอมาโดยตลอด โดยลงสนามเป็นตัวจริงให้กับสโมสรไปมากกว่า 500 เกม และพาทีมคว้าแชมป์พรีเมียร์ ลีก 7 สมัย แทบจะไม่มีสักเกมเลยที่เขาทำหน้าที่ได้ต่ำกว่ามาตรฐาน

9. ลี ชาร์ป (ทอร์คีย์ ยูไนเต็ด – มิถุนายน 1988, 185,000 ปอนด์)
อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เจรจาถึงดีลนี้กับผู้จัดการทีมทอร์คีย์อย่าง ไซริล โนว์ลส ในรถของเขาระหว่างทริปเดินทางไปเดวอน ข้อตกลงลุล่วงไปด้วยดี และดาวรุ่งรายนี้ก็ได้กลายมาเป็นนักเตะคนสำคัญของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แถมยังมีชื่อติดทีมชาติอังกฤษในภายหลังอีกด้วย

10. สตีฟ ค็อปเปลล์ (ทรานเมียร์ โรเวอร์ส – กุมภาพันธ์ 1975, 60,000 ปอนด์)
แม้ว่าจะได้รับข้อเสนอเข้ามาจากทีมใหญ่ๆ มากมาย แต่ปีกความเร็วสูงผู้นี้ก็เลือกที่จะอยู่ทรานเมียร์ต่อไป เพื่อเหตุผลด้านการเรียนควบคู่กันไปด้วยที่มหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล อาการบาดเจ็บอาจทำให้เขาเลิกเล่นก่อนวัยอันควร แต่เขาก็ได้ชื่อว่าเป็นนักเตะที่เคยติดทีมชาติอังกฤษสม่ำเสมอ และก็เป็นผู้เล่นคนสำคัญทางริมเส้นในถิ่นโอลด์ แทรฟฟอร์ดด้วย

11. อาร์โนลด์ มูห์เรน (อิปสวิช ทาวน์ – สิงหาคม 1982, ไม่มีค่าตัว)
เพลย์เมคเกอร์เท้าซ้ายชาวดัตช์ย้ายมาจากอิปสวิชหลังจากที่หมดสัญญากับทีม นักเตะวัย 31 ปีเป็นผู้ทำประตูได้จากลูกจุดโทษในนัดชิงชนะเลิศเอฟเอ คัพที่ทีมปีศาจแดงเอาชนะไบรท์ตัน ซึ่งเป็นฤดูกาลแรกที่เขาย้ายเข้ามาเล่นกับสโมสร ถือเป็นนักเตะระดับคุณภาพในทีมของแอตกินสันชุดนั้น

12. พอล แม็คกรัธ (เซนต์ แพทริคส์ แอธเลติก – เมษายน 1982, 30,000 ปอนด์)
กองหลังเชิงสูงที่สามารถเล่นในแผงมิดฟิลด์ได้ด้วย เขาเป็นดาวรุ่งพรสวรรค์ที่ได้รับการยกย่องเป็นอย่างมาก การที่ รอน แอตกินสัน คว้าตัวเขาเข้ามาด้วยค่าตัวเท่านี้จึงถือเป็นการทำธุรกิจที่ได้กำไรมากโขเลยทีเดียว

13. โทนี่ ดันน์ (เชลบอร์น – เมษายน 1960, 5,000 ปอนด์)
แข้งจากดับลินช่วยให้เชลบอร์นคว้าแชมป์เอฟเอไอ คัพ และหลังจากสานฝันตัวเองด้วยการย้ายมายังถิ่นโอลด์ แทรฟฟอร์ด เขาก็พิสูจน์ให้เห็นว่าคุ้มค่าตัวอย่างรวดเร็ว แม้ว่าเขามักจะเป็นนักเตะประเภทปิดทองหลังพระ แต่เขาก็มีชื่ออยู่ที่อันดับ 7 ในลิสต์นักเตะที่ลงสนามมากที่สุดตลอดกาลของยูไนเต็ด ตลอดระยะเวลา 13 ปีที่เขารับใช้สโมสร
SiR KeaNo

2001-2024 RED ARMY FANCLUB Official Manchester United Supporters Club of Thailand. #ThaiMUSC

Related Posts

Copyright © 2025 Eidaihome. All Right Reserved.